นาฬิกา ธงค้อนเคียว ปฏิทิน


      เวลาประเทศไทย...     
 
 images by free.in.th
 

      ปฏิทินวันนี้...   

News online

Radio

REDPLUS  LIVE 1
ผู้กล้าปชต. 90.25 MHz
REDSIAM
SOOMHUAGUN
วิทยุ 3DANG 1
วิทยุแกนนอน
วิทยุม้าเร็ว 1
THAIVOICE 2
ติดต่อเรา way2fight.rs@gmail.com
Blog นี้เข้าได้สองทางนะครับ http://way2fight.blogspot.com และ http://fighttillwin.blogspot.com แต่ละ Blog มีบทความให้อ่านต่างกันครับ แต่นอกนั้นเหมือนกันหมดครับ C box เดียวกันครับ เข้าทางไหนก็คุยกันได้ครับ สำหรับท่านที่ต้องการเข้ามาคุยอย่างเดียวเชิญทางนี้ครับ http://way2fight.cbox.ws/ (ห้องสีชมพู) และ http://winniebetter.cbox.ws/ (ห้องสีฟ้า) สำหรับท่านที่ต้องการอ่านแต่บทความอย่างเดียวเพราะคอมช้า ทำให้เสียเวลาในการโหลดหน้าเวบ ทางทีมงาน Blog ได้รวบรวมบทความทั้งหมดไว้ด้วยกันแล้ว เชิญทางนี้เลยครับ http://way2fightnews.blogspot.com/

way2fight C-Box

ห้องลับสำหรับคุยหลังไมค์

World Clock เวลาทั่วโลก

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฉันไม่อยากเป็นชาวนา

Wed, 2011-11-16 20:31

นิรมล ยุวนบุณย์
Thai Social Movement Watch

รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูชาวนาชาวไร่ในภาคเกษตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างชัดเจน เป็นระบบ และสอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทัดเทียมกับความช่วยเหลือที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

อุทกภัยครั้งนี้รุนแรงและส่งผลกระทบกว้างขวางยิ่งนัก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ นักลงทุน บรรษัทข้ามชาติ ซึ่งแทบไม่เคยได้รับความเดือดร้อนใดๆ ต่างก็ประสบความเสียหายอย่างหนักกันถ้วนหน้า มิต้องพูดถึงบ้านเรือนเรือกสวนไร่นา พื้นที่การเกษตรของชาวนาชาวสวนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในเขตจังหวัดรอบกรุงเทพมหานครที่ต้องจมเสียหายอยู่ในน้ำมานานก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์เนื่องจากมวลน้ำจากทางเหนือและการระบายน้ำออกที่เป็นไปได้ช้าอันเกิดจากการพยายามที่จะป้องกันน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร


หากติดตามข่าวเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้้ได้รับผลกระทบ จะพบว่ารัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐด้านการพาณิชย์และอุตสาหกรรมต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเตรียมการช่วยเหลือฟื้นฟูแก่ภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมควรกระทำแล้ว เนื่องจากมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่กำลังประสบความเดือดร้อน อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าเรื่องราวของชาวนาชาวไร่ที่เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหายจากอุทกภัยดูจะกลายเป็นสิ่งที่คุ้นชินเสียจนกระทั่งว่ายังไม่เห็นมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการเกษตรได้พยายามมีบทบาทเชิงรุกเพื่อเตรียมการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรหลังน้ำลดแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เกษตรกรรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เสียขวัญและกำลังใจ หากแต่ยังส่งผลเสียต่อภาพพจน์รัฐบาล ทำให้ง่ายต่อการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่ารัฐบาลนี้มุ่งแต่จะอุ้มนายทุนหรือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม แต่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเกษตรกร

ในที่นี่จะได้นำเสนอตัวอย่างเรื่องราวของชาวนาในทุ่งแห่งหนึ่งในเขต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนและความเสี่ยงต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากอุทกภัย ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงภัยจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยจากระบบการจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสมด้วย ขณะที่ภาวะน้ำท่วมรุนแรงในปีนี้ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของชาวนาเหล่านี้ย่ำแย่มากขึ้น ทุ่งแห่งนี้มีสภาพเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ พื้นที่ในแอ่งมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ราบเรียบ ทุกปลายปีน้ำเหนือจะไหลหลากเข้าทุ่งในระดับความสูงราว 1 – 2 เมตร ชาวนาที่นี่มีทั้งที่ทำนาปีหรือการปลูกข้าวฟางลอยและที่ทำนาปรังปีละ 2 หน

การปลูกข้าวฟางลอยถือเป็นระบบการทำนาที่มีมาแต่เดิมและมีความสอดคล้องกับสภาพนิเวศน์ เพราะพันธุ์ข้าวที่ใช้สามารถยืดตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อหนีน้ำที่ไหลล้นตลิ่งเข้าทุ่ง การปลูกข้าวฟางลอยใช้เงินทุนและการจัดการไม่มากนักเมื่อเทียบกับการทำนาปรัง อย่างไรก็ดี หลายปีที่ผ่านมาการปลูกข้าวฟางลอยประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การลดลงของผลผลิตเนื่องจากการควบคุมน้ำด้วยระบบชลประทานที่ทำให้ตะกอนดินและสารอาหารจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ไหลเข้าสู่นาดังเดิม ตลอดจนความขัดแย้งกับผู้ทำปรังเนื่องจากมีความต้องการปล่อยน้ำเข้านาและระบายน้ำออกนาที่ไม่ตรงกัน

ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน น้ำในทุ่งนาเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถนนเทศบาลที่อยู่ขนานกับลำคลองในหมู่บ้านเริ่มมีน้ำเอ่อนอง ชาวนาฟางลอยหวั่นวิตกว่าแม้ข้าวจะยืดต้นพ้นน้ำที่ปล่อยเข้าท่วมนาประมาณวันละ 3 เซนติเมตรได้ แต่น้ำล้นตลิ่งเข้านาที่มีมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนซึ่งข้าวกำลังตั้งท้องทำให้ต้นข้าวยืดตัวยาว ไม่แตกกอ และมีผลให้ผลผลิตข้าวลดลง หากข้าวถูกซ้ำเติมอีกด้วยกองทัพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พวกเขาก็อาจไม่มีข้าวขายให้กับโครงการจำนำข้าวในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้านี้ก็เป็นได้ นอกจากนั้น เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว แต่หากระดับน้ำยังไม่ลดลง ก็อาจทำให้ต้องเกี่ยวข้าวในสภาพทุลักทุเล ต้นข้าวอาจจะล้มลงในทุ่งนาที่น้ำมีน้ำท่วมขังเฉอะแฉะ เมล็ดข้าวเปียกเปื้อนเสียหายและเปิดโอกาสให้โรงสีกดราคาข้าวได้อีก

สำหรับชาวบ้านที่ทำนาปรังปีละ 2 หน พวกเขาไม่ได้ทำนาฟางลอย เนื่องจากระยะเวลาการทำนาปีกินเวลานานราว 6 – 7 เดือน ทำให้นาปรังเริ่มได้ช้าและเสี่ยงอย่างมากต่อการถูกน้ำท่วมหรืออาจต้องเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำในช่วงเดือนกันยายนได้ เดิมชาวนาปรังที่นี่มั่นใจว่าที่นาของตนไม่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย เพราะอยู่ในคันกั้นน้ำ อย่างไรก็ดี การที่ปีนี้ฝนตกชุกมาตั้งแต่ต้นปีและมีปริมาณน้ำที่ไหลหลากอย่างมากมาจากภาคเหนือ ประกอบกับผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำนอกบริเวณคันกั้นน้ำเข้าทุ่งนาประสบปัญหาน้ำท่วมมากว่า 2 สัปดาห์ พวกเขาจึงได้ปิดถนนประท้วงเพื่อให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่งนาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ชาวนาปรังสามารถคาดเดาได้ว่าน้ำต้องท่วมนาก่อนได้เก็บเกี่ยวแน่นอน ดังนั้น ปลายเดือนสิงหาคม – ต้นกันยายนที่ผ่านมาชาวนาหลายคนจึงจำเป็นต้องรีบเร่งเกี่ยวข้าวนาปรังหนที่สองเพื่อหนีน้ำ

ชาวนาปรังรายหนึ่งเล่าว่าตนต้องรีบเกี่ยวข้าวไวกว่ากำหนด ซึ่งในคืนก่อนเกี่ยวมีฝนตกหนักเกือบ 2 ชั่วโมง ทำให้ข้าวที่เกี่ยวในเช้าวันรุ่งขึ้นมีความชื้นสูง และขายได้ตันละ 7,500 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาข้าวเหลืองครบกำหนดเกี่ยวที่ลานรับซื้อในขณะนั้นอยู่ที่ 9,300 – 9,500 บาท ขณะที่อีกรายเล่าว่าตนต้องเกี่ยวก่อนกำหนดราว 10 วัน ขณะนั้นข้าวกำลังเป็นน้ำนม และต้องเกี่ยวในสภาพที่มีน้ำขังในนาเฉอะแฉะ หารถเกี่ยวได้ยากเพราะคิวแน่น โดยขายได้เพียงตันละ 6,700 บาท สำหรับรายนี้มีต้นทุนการปลูกข้าวอยู่ที่ 3,337.50 บาทต่อไร่ (ไม่รวมค่าน้ำมันสูบน้ำเข้าออก) ฤดูนี้พื้นที่ 1 ไร่ของเขา ผลิตข้าวได้ 56.25 ถัง ดังนั้นข้าว 1 ตันต้องใช้ที่นา 1.7 ไร่ คิดเป็นต้นทุนการผลิตต่อตันเท่ากับ 5,673.75 บาท ข้าวที่เขาผลิตได้มีปริมาณ 4.5 ตัน ดังนั้นเขาจึงมีกำไรจากการทำนาปรังรอบนี้จำนวน 8 ไร่ รวมระยะเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 4,618 บาท หรือได้กำไรแค่เพียงไร่ละ 577 บาทเท่านั้น

น่าสนใจว่า แม้โครงการจำนำข้าวครั้งที่ 1 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะได้เริ่มต้นแล้วในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านที่นี่จำต้องเก็บเกี่ยวและขายข้าว (เขียว) จากการทำนาปรังหนที่ 2 ให้โรงสีตั้งแต่เดือนกันยายนแล้ว นั่นเท่ากับว่าฤดูปลูกข้าวนาปี 2554/55 นี้ ในทุ่งแห่งนี้จะมีเฉพาะข้าวจากนาฟางลอยที่จะเกี่ยวได้ในเดือนมกราคมปีหน้าเท่านั้นที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว แต่ทั้งนี้ต้องรอดูผลก่อนว่าท่ามกลางอุทกภัยหนักในปีนี้ ข้าวฟางลอยของทุ่งแห่งนี้จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตหรือไม่ อนึ่ง การทำนาปรังหนที่สองในปีนี้อยู่ระหว่างรอยต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์กับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ชาวนาในการขายข้าวตันละ 1,437 บาท ไม่เกิน 30 ตันต่อครอบครัว อย่างไรก็ดี มาตรการการช่วยเหลือชาวนาปรังหนสองปี 2554 นี้ได้กำหนดเงื่อนไขในระดับปฏิบัติการไว้ว่าค่าชดเชยที่จะจ่ายให้นั้นใช้ฐานการคำนวณอัตราผลผลิตต่อไร่ไว้ที่ 55.3 ถังต่อไร่ จากเดิมที่กำหนดไว้ 63 ถังต่อไร่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาได้รับค่าชดเชยน้อยลงมากจากปีที่แล้ว โดยจะได้รับเพียงประมาณ 350 บาทต่อไร่เท่านั้น

การเป็นชาวนาในชีวิตจริงไม่ได้งดงามและโรแมนติคดังที่ปรากฏในเรียลลิตี้โชว์ตามทีวีสาธารณะอย่างแน่นอน ท่ามกลางวิกฤติอุทกภัยครั้งร้ายแรงในปีนี้ ชาวนาซึ่งตามปกติก็ต้องเจอกับความเสี่ยงต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งจากน้ำท่วมทั่วไป เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความไม่มั่นคงในการเช่าที่นา ฯลฯ ก็ยิ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น การพยายามปรับตัวของพวกเขาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การต่อรองขอลดราคาจ้างเกี่ยวข้าว การต่อรองกับเจ้าของที่นา ฯลฯ อาจจะไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติที่ยากต่อการคาดการณ์ ท่ามกลางภาวะวิกฤติเช่นนี้การสนับสนุนจากรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูชาวนาชาวไร่ในภาคเกษตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างชัดเจน เป็นระบบ และสอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทัดเทียมกับความช่วยเหลือที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยจะต้องตระหนักว่าภาคเกษตรและชาวนาชาวไร่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไม่น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม และความมั่นคงของทั้งสองภาคส่วนต่างมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและขึ้นต่อกันอย่างแยกไม่ออก

หมายเหตุ
*บทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2554
**หมายเหตุ เป็นบทความที่เรียบเรียงจากร่างรายงานผลการวิจัยเรื่อง "ดำรงชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง: การรับมือและการปรับตัวต่อภัยพิบัติของชาวนารายย่อยภาคกลาง กรณีศึกษาภัยน้ำท่วมและภัยจากเพลี้ยกระโดด" (Surviving against the Risks: The Adaptations and Coping Strategies of Small –Scale Farmers in Central Thailand toward Hazards, Case Studies on Flooding and Planthopper Invasion) โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์, นิรมล ยุวนบุณย์, และ นันทา กันตรี สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบ เพื่อคุณภาพชีวิต เกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.)

ที่มา prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น